วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

น้ำยายืดผม

ปัจจุบันเครื่องสำอางมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน   การยืดผมถาวรเพื่อความเป็นระเบียบของเส้นผม เส้นผมตรง ไม่เสียเวลาในการจัดแต่งทรงผม เป่าหรือไดร์หลังสระ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามอันตรายที่เกิดจากเครื่องสำอางก็อาจพบได้บ้างถึงแม้จะพบน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณ และจำนวนคนที่ใช้
หลักในการยืดผม
          ตามปกติเส้นผมที่มีสุขภาพดีมีค่า pH 4.5-5.5 ค่า pH   เป็นค่าที่บอกความเป็นกรด-ด่าง มีค่าตั้งแต่ 1-14 โดยที่ค่า pH 1 แสดงความเป็นกรดมากที่สุด ส่วนค่า pH 14 จะเป็นด่างมากที่สุด น้ำยาที่ใช้ยืดผม เรียกว่า รีแลกเซอร์ (relaxers) มีค่า pH 8.4-14   จึงมีคุณสมบัติที่ไปทำให้เส้นผมเปลี่ยนแปลงจากสภาวะที่เป็นกรดอ่อนๆ ไปเป็นด่าง  เป็นสาเหตุทำให้ผมแห้ง หยาบ  และเส้นผมอาจถึงกับแตกหรือขาดได้ ดังนั้นหลังจากยืดผมใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แชมพูและครีมปรับสภาพผมเพื่อปรับสมดุล pH ของเส้นผม

          เมื่อทำการยืดผม น้ำยายืดผมจะแทรกซึมเข้าไปในชั้นกลาง (cortex) ของเส้นผมและเกิดการทำปฏิกิริยากับพันธะไดซัลไฟด์ (di-sulfide bonds) หรือพันธะซิสเตอีน (cysteine bonds) ซึ่งเป็นพันธะที่เชื่อมสายโซ่โปรตีนเข้าด้วยกัน  ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรง    และความคงตัวของโครงสร้างเส้นผม   ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำยายืดผมจะทำให้สายโซ่โปรตีนนี้แตกออก เส้นผมอ่อนตัวลงสามารถจัดรูปแบบใหม่ได้ตามต้องการ  และเมื่อทำการล้างน้ำยาออก กระบวนการต่อไปคือการทำให้เป็นกลางเพื่อปรับสภาวะผมให้มี  pH  เป็นปกติเกิดการซ่อมแซมสายโซ่โปรตีนที่แตกออกให้กลับมาเชื่อมกันมีความยืดหยุ่นและคงตัวตามเดิม ในรูปแบบใหม่ที่เส้นผมถูกทำให้ตรงไว้ ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดภายหลังนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปนานประมาณ   48   ชั่วโมงหลังจากรับบริการ    ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะสระผมในช่วงเวลานี้

          น้ำยายืดผม   มีสารที่ใช้อยู่   3   ชนิด   คือ    sodium hydroxide,     guanidine hydroxide  และ  ammonium thioglycolate

          โซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นรีแลกเซอร์ที่เป็นอันตราย   เนื่องจากมีความเป็นด่างแรงที่สุด มี pH 10-14  มีฤทธิ์กัด   ควรจะใช้กับเส้นผมที่หยิกมากๆ   ถ้าใช้ไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บแสบหนังศีรษะ เส้นผมแห้งและแตก

          ส่วนสาร guanidine hydroxide (ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารผสมระหว่าง calcium hydroxide และ guanidine carbonate)   และ ammonium thioglycolate  มี  pH 9-9.5   มีความแรงน้อยกว่าโซเดียมไฮดรอกไซด์

          ในปัจจุบันการยืดผมให้ตรง  จะใช้ความร้อนเข้าช่วยโดยใช้สาร    ammonium thioglycolate และแผ่นเหล็กเรียบ (flat iron)  ที่ความร้อนสูง 170-230  องศาเซลเซียส  ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เส้นผมยืดตรงอย่างถาวร อ่อนนุ่ม เป็นประกาย และไม่โค้งงอ หยิก ซึ่งเส้นผมที่จะทำการยืดตรงนี้ควรมีความยาวอย่างน้อยสี่นิ้ว  เวลาที่ใช้ในการทำทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมงสำหรับผมสั้น ส่วนผมยาวจะใช้เวลานาน 4-5 ชั่วโมง   เนื่องจากใช้เวลานาน   ค่าบริการจึงแพง   อย่างไรก็ตามควรมีการทำซ้ำทุก 6 เดือน เนื่องจากผมที่งอกยาวขึ้นมาใหม่

          นอกจากนี้ไม่ควรสระผมเป็นเวลาอย่างน้อย     48   ชั่วโมง     หลังจากเข้ารับบริการ   ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปรับสมดุล  pH  และยังไม่แนะนำให้ทำการกัดสีผมหรือทำไฮไลท์เส้นผมหลังจากทำการยืดผม
ข้อควรระวัง           
          การไปใช้บริการยืดผมตรง     ควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์    เลือกน้ำยาที่เหมาะกับสภาพเส้นผม  และเช็คหนังศีรษะว่ามีแผลหรือไม่ มักพบอาการแพ้เป็นผื่นระคายสัมผัสในช่างทำผม    มากกว่าคนที่ถูกยืดผม   โดยมักจะมีจมูกเล็บอักเสบ   และเล็บเสียรูป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ จึงควรมีข้อระวัง ดังนี้
          1. ระวังอย่าให้เข้าตา เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
          2. ต้องหยุดใช้ และล้างออกด้วยน้ำทันที เมื่อมีอาการคันปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณที่ใช้ และที่ถูกน้ำยา หรือมีเม็ดผื่นแดง
          3. ห้ามเกาศีรษะอย่างแรงในระหว่างสระ    เพราะอาจเกิดรอยถลอก   เป็นแผลหรือเม็ดผื่นแดง
          4. ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผล หรือโรคผิวหนัง
หมายเหตุ  การยืดผมใช้หลักการและสารเคมีเช่นเดียวกับการดัดผมให้เป็นลอน แต่ต่างกันตรงที่การยืดผมเป็นการดัดผมที่หยิกให้กลับตรง

สารเคมีที่ใช้ในน้ำยายืดผม
Ammonium thioglycolate
ชื่อพ้อง  ได้แก่ Ammonium mercaptoacetate; Acetic acid,mercapto-,monoammonium salt; Thioglycollic acid,ammonium salt; Ammonium thioglycolate,60% Aqueous Soln.

สูตรเคมี  C2H4O2S.H3N   มีน้ำหนักโมเลกุล  109.15
          Ammonium thioglycolate เป็นของเหลวไม่มีสี หรืออาจมีสีชมพูอ่อนๆ จัดเป็นประเภทสารที่ใช้ในการจัดแต่งทรงผมเพื่อดัด    หรือยืดผม    ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับยืดผมมีความเข้มข้นในช่วง 5-10%  แต่อาจมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นถึง 25-50% นอกจากนี้ Ammonium thioglycolate ยังอาจใช้ในการทำสีผมถาวร ที่ความเข้มข้น 0.25% เพื่อใช้เป็นสารต้านออกซิเดชันเพิ่มความคงตัว
ความเป็นพิษ
          เนื่องจากมีความเป็นด่างสูง  จึงไม่สามารถใช้วิธีที่เรียกว่า Patch Test ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบการแพ้ที่ผิวหนังก่อนการใช้สารได้ สารนี้ทำให้เกิดระคายเคืองเป็นผื่นแพ้เมื่อสัมผัสผิวหนัง (contact dermatitis)   ซึ่งมักเกิดเมื่อใช้ในปริมาณที่มีความเข้มข้นเกินขนาด   หรือใช้เป็นเวลานานพอสมควร เป็นพิษหากเข้าตา ดังนั้นจึงต้องป้องกันการสัมผัสกับสารละลายนี้ที่ผิวหนังและตาในทุกกรณี อาการแพ้ที่พบ ได้แก่ ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ แสบร้อน หากโดนตาทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม หากสูดดมทำให้ไอ จาม วิงเวียนและหายใจไม่ออก
การปฐมพยาบาล
          หากเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำนานอย่างน้อย   15   นาที  และถ้าเกิดเยื่อบุตาอักเสบ  ตาบวม น้ำตาไหล   ควรรีบให้อยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์  หากโดนผิวหนังให้เปลี่ยนเสื้อผ้านั้นออกและล้างด้วยน้ำและสบู่ ผิวหนัง และให้อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
     
บรรณานุกรม
Bisphenol A. Wikipedia, the Encyclopedia
[Online http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=1548] accessed on August 23, 2007.
Toxic chemical threatens children’s health
[Online http://www.wwf.org.uk/news/n_0000000145.asp] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://website.lineone.net/~mwarhurst/bisphenol.html] accessed on August 23, 2007.
What are endocrine disruptors?
[Online http://www.sph.emory.edu/PEHSU/html/exposures/endocrine.htm] accessed on August 23, 2007.
The Bisphenol-A Debate: A Suspect Chemical in Plastic Bottles and Cans by Catherine Zandonella, M.P.H
[online http://www.thegreenguide.com/doc/114/bpa] accessed on August 23, 2007.
Legislature considers bill to ban chemical from kids’ products. Bisphenol A found in pacifiers, toys and baby bottles. By Jane Kay, Chronicle Environment Writer, on Thursday, March 31, 2005
[online http://sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/c/a/2005/03/31/BAGIOC13FM1.DTL] accessed on August 23, 2007.
ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/ammonium-thioglycolate.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น