วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

น้ำยาซักผ้าขาว

นอกไปจากผงซักฟอก   หนึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้า  ที่เหล่าคุณแม่บ้าน
ทั้งหลายน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คงจะหนีไม่พ้น “น้ำยาซักผ้าขาว”
      หลาย ๆ ท่านคงจะเคยใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับผงซักฟอก เพื่อเพิ่มพลังขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคราบหมึกคราบอาหาร   คราบชากาแฟ  เพื่อให้เสื้อผ้าขาวสะอาดสดใส  ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปอยู่ในรูปของเหลวบรรจุขวดพลาสติกสวยงาม แต่คุณแม่บ้านเคยทราบหรือไม่ว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้   มีสารเคมีชนิดใดเป็นสารสำคัญ   ในการออกฤทธิ์ขจัดคราบ
ทำความสะอาดเสื้อผ้า และมีความปลอดภัยในการใช้เพียงใด

      สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ    ในน้ำยาซักผ้าขาวที่ผู้ผลิตนิยมใช้คือ    “โซเดียมไฮโปคลอไรท์” ซึ่งนอกจะมีคุณสมบัติในการขจัดคราบเปื้อนและฟอกผ้าขาว  ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ด้วย  ในบางกรณี  จึงมีการนำน้ำยาซักผ้าขาวมาใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับราดพื้น   เช่น ในช่วงเหตุการณ์สึนามิ     ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค     ได้แนะนำให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์  ความเข้มข้น 0.5 – 1% ราดบริเวณพื้นที่ต้องการฆ่าเชื้อ  รวมไปถึงทั้งการใช้ล้างพาหนะที่ขนย้ายผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามต้องระวังการใช้กับวัตถุที่เป็นโลหะหนัก เช่น เหล็ก ทองแดง และ นิคเกิล เป็นต้น
โครงสร้างทางเคมีและกลไกการขจัดคราบ
      โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีโครงสร้างทางเคมีคือ      NaOCl      ในน้ำยาซักผ้าขาวโซเดียมไฮโป
คลอไรท์ จะแตกตัวออกเป็น Na+ และ ClO-  ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเกลือ NaOH และ HClO โซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารออกซิแดนท์ที่รุนแรงเกิดการปลดปล่อยแอคทีฟออกซิเจน [O] ที่เป็นตัวการในการฟอกขาวให้กับเสื้อผ้านั่นเอง

      ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ   NaOH    อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย
เพื่อทำให้สารมีความเป็นด่าง  เพราะในบางครั้ง  หากน้ำที่ใช้ตามบ้านมีความเป็นกรดเล็กน้อย จะไปทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เกิดเป็นกาซคลอรีนซึ่งมีความเป็นพิษและยังลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำยาซักผ้าขาว การเติมเกลือ NaOH จึงจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวมากขึ้น
      อย่างไรก็ตามต้องระวังในแง่การใช้ เพราะการที่น้ำยาซักผ้าขาวมีความเป็นด่างสูงมากขึ้นจากการเติมเกลือดังกล่าว   ประกอบกับการมีโซเดียมไฮโปคลอไรท์  จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงขึ้น หากหกโดนเสื้อผ้าสวย ๆ โดยตรง อาจทำให้ขาดเป็นรูได้  จึงต้องอ่านฉลากแนะนำการใช้ให้ดีว่าควรต้องเจือจางด้วยน้ำในปริมาณเท่าใด
การใช้เป็นน้ำยาซักผ้าขาว
      สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวมีอยู่ประมาณ 3-6% ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและระยะเวลาการเก็บ เนื่องจากโซเดียมไฮโปคลอไรท์ไม่ค่อยเสถียร เสื่อมสลายไปตามระยะเวลา โซเดียมไฮโปคลอไรท์ออกฤทธิ์ขจัดคราบเปื้อนออกจากเสื้อผ้าได้ดี โดยเฉพาะที่ทำจากผ้าฝ้าย  นอกจากนี้ยังจัดเป็นน้ำยาซักผ้าขาวเพียงชนิดเดียวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียไปด้วยในตัวความเป็นพิษโซเดียมไฮโปคลอไรท์ในน้ำยาซักผ้าขาว  ไม่เพียงแต่จะมีความสามารถในการขจัดคราบเปื้อนบนเสื้อผ้าแล้ว       สารนี้ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง     เป็นผลมาจากคุณสมบัติในการเป็นสาร
ออกซิแดนท์ที่แรง  ดังนั้นจึงต้องระวังการสัมผัสถูกผิวหนัง การกระเด็นเข้าตาหรือการสูดดมโดยตรงจากขวดผลิตภัณฑ์
อาการพิษ
      ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่อยู่ในน้ำยาซักผ้าขาว มีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรง คุณแม่บ้านที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะควรเก็บให้พ้นมือจากเจ้าตัวเล็กทั้งหลาย    เพราะหากเผลอรับประทานเข้าไปแล้วจะ
เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุที่ปากและลำคอ ปวดท้องและแผลเปื่อยตามบริเวณทางเดินอาหาร

      ในกรณีที่หากเผลอเทหกจากขวดรดมือโดยตรง  อาจเกิดการระคายเคืองได้ปานกลางและมีผื่นแดงได้บ้าง  แต่หากกระเด็นเข้าตาแล้วจะเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง  หากสูดดมโดยตรงจะทำ
ให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของทางเดินหายใจได้

      แต่ที่พอจะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง  สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์นี้คือ  ยังไม่มีรายงานการก่อมะเร็ง
โดยการใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นองค์ประกอบ
ข้อควรระวัง
           - นอกเหนือไปจากการที่ต้องระวังการสัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรงแล้ว    หากในบ้านมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ๆ อยู่      ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เทสารเหล่านี้ปนกัน โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีกรดเป็นองค์ประกอบ  เช่น  น้ำยาล้างห้องน้ำบางชนิด เพราะกรดจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์  เกิดก๊าซคลอรีนในระหว่างการผสมและหากเกิดการสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดพิษ      ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ       และยังทำให้ประสิทธิภาพในการขจัดคราบของน้ำยาซักผ้าขาวที่มีการปนเปื้อนของกรดนั้นลดลง     
           - นอกจากนี้  ยังต้องระวังการผสมกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นองค์ประกอบ  เช่น  ในน้ำยาเช็ดกระจก   เพราะจะทำให้เกิดกาซคลอรามีน (chloramine) ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นกัน  และไม่ควรนำมาทำความสะอาดเสื้อผ้าที่เปื้อนปัสสาวะ  เพราะในปัสสาวะมีแอมโมเนียอยู่     
           - อย่างไรก็ตามก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้งควรอ่านฉลากการใช้ให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

การปฐมพยาบาล
      หากคุณแม่บ้านหรือสมาชิกในบ้านเผลอตัวไปสัมผัสเข้าโดยตรง   ไม่ต้องตกใจให้รีบปฏิบัติดังนี้

      - ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ฉีดล้างผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากๆ

      - ถ้าสัมผัสถูกตา  ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที   พร้อมกระพริบตาถี่ๆขณะทำการล้าง หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์

      - ถ้าหายใจเข้าไป  ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์  หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์

      - ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป  ห้ามไม่ให้สิ่งใดเข้าปากผู้ป่วยที่หมดสติ   หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ดื่มสารละลายโปรตีน  หรือถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ดื่มน้ำปริมาณมากๆ   อย่าให้ผู้ป่วยดื่มน้ำส้ม  เบคกิงโซดา ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด จากนั้นให้นำส่งไปพบแพทย์
การเก็บรักษา
      บางครั้งคุณแม่บ้านบางท่านอาจอยากเปลี่ยนขวดภาชนะบรรจุให้สวยงามขึ้น  ก็สามารถทำได้แต่ต้องถ่ายเก็บในภาชนะพลาสติกประเภท PVC อย่าถ่ายลงหรือเจือจางผสมน้ำในภาชนะประเภทโลหะหนัก  เช่น  กะละมังโลหะเพราะจะทำปฏิกิริยากันได้  นอกจากนี้ควรเก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด เพราะผลิตภัณฑ์จะมีอายุการใช้งานและประสิทธิภาพต่ำลง

บรรณานุกรม

1. สุวรรณา เหลืองชลธาร (2543) เคมีอนินทรีย์ทางเภสัชศาสตร์ เล่ม 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 154
2. Wikipedia, the Free Encyclopedia. Sodium hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hypochlorite] accessed on December 14, 2009.
3. ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์. [Online http://www.blogger.com/msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=203] accessed on December 14, 2009.
4. Sodium Hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/www.inchem.org/documents/pims/chemical/pim495.htm] accessed on December 14, 2009.
5. Sodium Hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/www.answers.com/topic/sodium-hypochlorite] accessed on December 14, 2009.
ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/sodium-hypochlorite.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น