ยาย้อมผม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม ทั้งเพื่อทำให้ดูอ่อนกว่าวัยจากการเปลี่ยนผมสีเทาหรือขาวให้เป็นสีเดิม หรือเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น ดังนั้นยาย้อมผมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและชาย
ส่วนประกอบของเส้นผม
เส้นผมของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รากผม ซึ่งฝังอยู่ในผิวหนัง และส่วนของเส้นผมที่ประกอบด้วยเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อตัดเส้นผมดูตามขวางจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ 1) ชั้นนอก (cuticle) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกล็ดงู 2) ชั้นกลาง (cortex) ซึ่งเป็นชั้นที่มีเม็ดสี (melanin) อยู่ เป็นสีตามธรรมชาติของเส้นผม หากขาดเม็ดสีนี้ก็จะทำให้เกิดผมขาว การเปลี่ยนสีผมจะทำให้เม็ดสีในชั้นนี้เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการดัดหรือยืดผมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารในชั้นกลางนี้ และ 3) ชั้นใน (medulla) เป็นชั้นแกนของเส้นผม
ยาย้อมผมเปลี่ยนสีผมได้อย่างไร?
ยาย้อมผมอาจเปลี่ยนสีผมเพียงชั่วคราว หรือเปลี่ยนสีผมอย่างถาวร (จนกว่าจะมีผมงอกขึ้นมาใหม่) ซึ่งผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในท้องตลาด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว ประกอบด้วยสีที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เคลือบบนชั้นนอกของเส้นผม ซึ่งสีนี้จะหลุดออกภายหลังจากการสระผมด้วยแชมพูเพียงครั้งหรือสองครั้ง
2. ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร ประกอบด้วยสีที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก ซึ่งสามารถซึมเข้าไปถึงชั้นกลางของเส้นผมได้ สีจะคงทนได้นาน 3-5 สัปดาห์
3. ยาย้อมผมชนิดถาวร ยาย้อมผมชนิดนี้ติดทนบนเส้นผม และทนต่อการสระด้วยแชมพู ซึ่งยาย้อมผมชนิดถาวรนี้มี 2 ชนิด คือ ยาเคลือบสีผม ซึ่งสีจะสะสมที่ชั้นนอกของเส้นผมเท่านั้น (โดยสีที่ใช้มี 3 ประเภท ได้แก่ สมุนไพรย้อมผม เกลือโลหะย้อมผม และสีผสม) และอีกชนิดหนึ่ง คือ ยาย้อมผมชนิดที่ซึมเข้าเส้นผม ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการเปลี่ยนสีผม ยาย้อมผมชนิดนี้ประกอบด้วยน้ำยา 2 ขวด คือ
ขวดที่ 1 ครีมสี เป็นของเหลวหรือครีม ซึ่งประกอบด้วยสีที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม ที่เรียกว่า
สีออกซิเดชัน หรือสีพารา ได้แก่ พาราฟีนิลีนไดอะมีน (p-Phenylenediamine, PPD) และ พาราโทลูอีนไดอะมีน (p-Toluenediamine, PTD) ซึ่งอยู่ในสภาวะด่างจากการเติม แอมโมเนีย (Ammonia) ด่าง ทำให้ชั้นนอกของเส้นผมบวม พอง และแยกออกทำให้สีซึมเข้าสู่ชั้นกลางของเส้นผม แต่ถ้าน้ำยาเป็นด่างมากจะละลายชั้นนอกของเส้นผม ทำให้ผมหยาบกระด้าง นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิว ที่ช่วยให้สีซึมเข้าเส้นผมได้ดี และสารที่ทำให้ข้นเพื่อให้สีไม่ไหลออกจากเส้นผม
ขวดที่ 2 น้ำยาโกรก ประกอบด้วย 6% ของ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ซึ่งทำหน้าที่ออกซิไดซ์สีพาราให้เกิดสีย้อมผม หากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีความเข้มข้นมากกว่า 6% จะทำลายเส้นผมและระคายเคืองหนังศีรษะ แต่ถ้าความเข้มข้นต่ำกว่านี้ก็จะไม่สามารถออกซิไดซ์สีพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการใช้ยาย้อมผมชนิดนี้ต้องผสมน้ำยาทั้ง 2 ขวดทันทีก่อนใช้ย้อมผม เพื่อให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ปล่อยออกซิเจนอิสระไปออกซิไดซ์สีพาราให้
เกิดสี สำหรับการเปลี่ยนสีผม
สารเคมีที่พบในยาย้อมผมและการเกิดพิษ
โพราโทลูอีนไดอะมีน (p-Toluenediamine, PTD)
ชื่อพ้อง ได้แก่ 2,5-diaminotoluene
สูตรโครงสร้างทางเคมี :
PTD ทำหน้าที่เป็นสีที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม มีลักษณะเป็นแผ่นหรือผลึกที่ไม่มีสี
อาการแพ้ที่พบ ได้แก่ การระคายเคืองผิวหนังและตา หากโดนผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำและสบู่ หากกระเด็นเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำ
ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท
พาราฟีนิลีนไดอะมีน (p-Phenylenediamine, PPD)
ชื่อพ้อง ได้แก่ phenylenediame, phenylenediame dihydrochloride, aminoaniline dihydrochloride, benzenediamine dihydrochloride, 1,4-diaminobenzene, p-aminoaniline
สูตรโครงสร้างทางเคมี :
ลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือแดง และมีสีเข้มขึ้นเมื่อทิ้งไว้ในอากาศ
PPD มีคุณสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์อย่างแรง เมื่อได้รับออกซิเจนจากตัวออกซิไดซ์ คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมดำที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม ในส่วนผสมของครีมสีจะมีความเข้มข้นต่าง ๆ (0.08-6%) กัน ซึ่งเมื่อผสมกับสารตัวอื่นจะให้สีต่างๆ กันด้วย
เป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้ อาการแพ้ที่พบ ได้แก่ หน้าและคอบวม ผื่นแพ้จากการสัมผัส (contact dermatitis) ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ แสบร้อน หากโดนตาทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม หากสูดดมทำให้ไอ จาม วิงเวียนและหายใจไม่ออก
การปฐมพยาบาล
ผู้ที่เกิดอาการแพ้ หากโดนผิวหนังและตา ให้ล้างออกด้วยน้ำ และให้อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท หากอาการแพ้เกิดขณะทำการย้อมผม ให้ล้างผมและหนังศีรษะด้วยสบู่อ่อน และน้ำเพื่อล้างสีย้อมออกไปให้หมด อาจนวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันมะกอก แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์ที่ละลายน้ำได้
นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้ PPD ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีม และครีมกันแดดที่มี PABA (p-aminobenzoic acid) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มี benzocaine หรือ procaine เป็นส่วนผสม และไม่ควรรับประทานยาในกลุ่มซัลฟา (sulfonamides) เนื่องจากอาจพบอาการแพ้ได้เช่นกัน
แอมโมเนีย (Ammonia)
ชื่อพ้อง ได้แก่ ammonia gas aqueous ammonia ammonium hydroxide
สูตรโครงสร้างทางเคมี : NH3
ลักษณะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี และมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว
แอมโมเนียที่เป็นส่วนผสมในครีมสี จะอยู่ในรูปของแอมโมเนียม ไฮดรอกไซด์ (Ammonium Hydroxide) ซึ่งเป็นสารละลายในน้ำที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 1% และมีความเป็นด่างสูง มีคุณสมบัติในการกัดกร่อน (corrosive) ทำให้ชั้นนอกของเส้นผมแยกออกเพื่อให้สีย้อมผมผ่านเข้าไปได้
อาการพิษที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส สูดดม หรือเมื่อกระเด็นเข้าตา จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และตา อาจมีน้ำตา น้ำมูกไหล และไอ
หากผิวหนังหรือเส้นผมสัมผัสกับแอมโมเนียให้ล้างด้วยน้ำสะอาดนานไม่ ต่ำกว่า 5 นาที แล้วตามด้วยสบู่และน้ำอีกครั้งหนึ่ง หากเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำหรือน้ำเกลือนาน 15 นาที ทั้งนี้ก่อนการใช้ยาย้อมผมผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัส (contact lens) ควรถอดเลนส์ออกก่อน เพื่อป้องกันไอระเหยของแอมโมเนียและสารเคมีอื่นๆ ที่อาจกระเด็นเข้าตา
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)
สูตรโครงสร้างทางเคมี : H2O2
ลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่คงตัว สามารถปลดปล่อยออกซิเจนได้โดยเฉพาะเมื่ออยู่รวมกับสารที่มี คุณสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์
ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ เป็นสารฟอกสี (bleaching หรือ lightening agent) ที่ทำลายเม็ดสีตามธรรมชาติ ทำให้เส้นผมมีสีอ่อนลง ง่ายต่อการเปลี่ยนสีผม และเป็นสารออกซิไดซ์ (oxidizing agent) ปลดปล่อยออกซิเจน เพื่อออกซิไดซ์สีพาราให้เกิดสีที่ย้อมติดกับผม ในยาย้อมผมไม่ควรมีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เกิน 6% แต่ที่พบในท้องตลาดมีตั้งแต่ 3-40%
หากใช้โดยไม่มีการเจือจางจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง
ส่วนประกอบอื่นๆ ที่พบในยาย้อมผม เช่น Nonoxynol-6, Nonoxynol-4, Propylene Glycol, EDTA, Sodium Metabisulfite, Resorcinol, O-Aminophenol, M-Aminophenol
จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณแพ้สารเคมีในยาย้อมผมหรือไม่?
ก่อนการใช้ยาย้อมผมแต่ละครั้ง ควรทดสอบว่าคุณจะแพ้สารเคมีที่เป็นส่วน ผสมอยู่ในยาย้อมผมหรือไม่ แม้คุณจะเคยใช้ยาย้อมผมชนิดนั้นโดยไม่เกิดการแพ้มาก่อนก็ตาม โดยปกติจะมีวิธีทดสอบการแพ้ที่เรียกว่า Patch Test ระบุในใบแทรกที่แนบมากับผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำได้โดยทำความสะอาดบริเวณหลังใบหู หรือบริเวณข้อพับข้อศอกด้านใน แล้วใช้ก้านสำลีจุ่มยาย้อมผมที่ผสมแล้วเพียงเล็กน้อยทาที่บริเวณดังกล่าว ให้กว้างประมาณครึ่งนิ้ว ทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออกเป็นเวลา 24 ถึง 48 ช.ม.หากมีอาการคันหรือผื่นแดง ก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้น
ผื่นแพ้จากการสัมผัส (Contact Dermatitis)
สารเคมีหลายตัวในยาย้อมผม อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน โดยเฉพาะ PPD ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้ยาย้อมผมส่วนใหญ่ ลักษณะผื่นแพ้อาจเป็นผื่นแดง หรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ คันมาก และจะขึ้นเฉพาะที่บริเวณที่สัมผัสถูกยาย้อมผม ตุ่มน้ำใสอาจรวมกันจนเป็นตุ่มพองใหญ่ เมื่อแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหล เมื่ออาการดีขึ้น ผิวหนังอาจแห้งเป็นขุย หรือหนาตัวขึ้น อาจมีสีคล้ำลง หรือเป็นรอยด่างขาวชั่วคราว เมื่อมีอาการคันไม่ควรเกาจนเป็นแผลเพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การรักษาผื่นแพ้จากการสัมผัส ขั้นแรก คือ การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หากอาการแพ้เกิดขึ้นแล้ว ให้ชะแผลด้วยน้ำเกลือ แล้วเช็ดให้แห้ง ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่ถ้าเป็นบริเวณกว้างควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย ถ้ามีหนองหรือน้ำเหลือง ให้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
ข้อควรระวังในการใช้ยาย้อมผม
- ไม่ควรย้อมผมหากมีแผลบนศีรษะ
- ไม่ควรย้อมผมหากมีแผลบนศีรษะ
- ทดสอบการแพ้ก่อนย้อมผม 24-48 ช.ม.
- สวมถุงมือยางขณะทำการย้อมผม
- ทำตามวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์
- ให้หยุดใช้ และล้างออกด้วยน้ำทันที เมื่อมีอาการคัน ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ใช้ หรือที่ถูกน้ำยา
- เก็บผลิตภัณฑ์ย้อมผมในที่มืด และเย็น
- ไม่เทน้ำยาผสมที่เหลือกลับขวด เนื่องจากภาชนะบรรจุอาจระเบิด ให้ทิ้งในที่ที่เหมาะสม
- ไม่ใช้ยาย้อมผม ย้อมขนตา หรือขนคิ้ว เพราะอาจทำให้ตาบอด
- หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาย้อมผม
เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2517 เกี่ยวกับคำเตือนซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องระบุไว้บนฉลากของน้ำยาย้อมผม
หากคุณเกิดอาการแพ้เมื่อใช้ยาย้อมผมชนิดถาวรแบบที่ซึมเข้าเส้นผมตามที่ได้ กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดอื่นๆ ให้คุณเลือกใช้ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติ ซึ่งปราศจาก PPD ที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นการอ่านฉลากที่ระบุส่วนประกอบสำคัญในยาย้อมผม จะช่วยให้คุณเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวเอง และทำให้คุณสวยสมวัยอย่างปลอดภัยได้
บรรณานุกรม
Bisphenol A. Wikipedia, the Encyclopedia
[Online http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A] accessed on August 23, 2007.
[Online http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=1548] accessed on August 23, 2007.
[Online http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=1548] accessed on August 23, 2007.
Toxic chemical threatens children’s health
[Online http://www.wwf.org.uk/news/n_0000000145.asp] accessed on August 23, 2007.
[Online http://www.wwf.org.uk/news/n_0000000145.asp] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://website.lineone.net/~mwarhurst/bisphenol.html] accessed on August 23, 2007.
[Online http://website.lineone.net/~mwarhurst/bisphenol.html] accessed on August 23, 2007.
What are endocrine disruptors?
[Online http://www.sph.emory.edu/PEHSU/html/exposures/endocrine.htm] accessed on August 23, 2007.
[Online http://www.sph.emory.edu/PEHSU/html/exposures/endocrine.htm] accessed on August 23, 2007.
The Bisphenol-A Debate: A Suspect Chemical in Plastic Bottles and Cans by Catherine Zandonella, M.P.H
[online http://www.thegreenguide.com/doc/114/bpa] accessed on August 23, 2007.
[online http://www.thegreenguide.com/doc/114/bpa] accessed on August 23, 2007.
Legislature considers bill to ban chemical from kids’ products. Bisphenol A found in pacifiers, toys and baby bottles. By Jane Kay, Chronicle Environment Writer, on Thursday, March 31, 2005
[online http://sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/c/a/2005/03/31/BAGIOC13FM1.DTL] accessed on August 23, 2007.
[online http://sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/c/a/2005/03/31/BAGIOC13FM1.DTL] accessed on August 23, 2007.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น