วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยาสีฟัน

 ยาสีฟันหมายถึงสารที่ใช้ทำความสะอาดฟันและลิ้น เพื่อรักษาสุชอนามัยในช่องปาก โดยทั่วไปยาสีฟันมักมีการแต่งสี กลิ่นและรสชาดเพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกสดชื่นฟันสะอาด ยาสีฟันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ โดยทำมาจากส่วนผสมของดอกไอริส (iris flowers)  จากนั้นชาวกรีกและชาวโรมันได้มีการพัฒนาสูตรยาสีฟันโดยการเติมสารขัดฟัน (abrasive) เช่น กระดูกป่น หรือเปลือกหอยลงไปในยาสีฟันด้วย ต่อมาช่วงราวศตวรรษที่ 18 ยาสีฟันสูตรอเมริกันและอังกฤษที่ที่มีส่วนผสมของขนมปังเผาอยู่ด้วยก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสูตรยาสีฟันที่มีส่วนผสมของยางต้นไม้ อบเชย และอะลูมินาเผาด้วย  แต่การใช้ยาสีฟันยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกระทั่งในศตวรรษที่19 ประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัทคอลเกตได้คิดค้นยาสีฟันแบบครีมบรรจุในหลอดบีบเพื่อจำหน่ายเป็นครั้งแรก (1)
            ใน ค.ศ.1914 เริ่มมีการเติมฟลูออไรด์ลงในยาสีฟันแต่ยังไม่มีการรับรองถึงประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุจากสมาคมทันตกรรมของอเมริกา จนกระทั่งในค.ศ.1950 บริษัท Procter & Gamble ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุของยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  และได้การรับรองจากสมาคมทันตกรรมอเมริกา
          ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่สามารถป้องกันฟันผุ มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ   สำหรับประเทศไทย   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟันมีปริมาณได้ไม่เกิน 0.11%หรือ 1,100 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และจัดประเภทยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เป็นเครื่องสำอางคุมพิเศษ (2)
ส่วนประกอบในยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ (3, 4)
1. ฟลูออไรด์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ โดยทำหน้าที่เคลือบฟัน ป้องกันการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรีย รวมทั้งกรดในอาหารด้วย รูปแบบของฟลูออไรด์ที่ใช้ผสมในยาสีฟันมี 2 ชนิด คือ โซเดียมฟลูออไรด์ (NaF)และ โซเดียม โมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Na2PO3F) ซึ่งในแต่ละผลิดภัณฑ์จะมีสัดส่วนของฟลูออไรด์ทั้งสองต่างๆ กัน หรืออาจใช้เพียงชนิดเดียวก็ได้ แต่จะมีปริมาณฟลูออไรด์ได้ไม่เกิน 1,100 ppm ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด ซึ่งยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 ppm 

2. สารขัดฟัน (Abrasives) ช่วยขจัดคราบอาหารและคราบหินปูนที่เกาะอยู่บนฟัน โดยทั่วไปนิยมใช้สารที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด ยาสีฟันควรมีสารขัดฟันมากพอที่จะกำจัดคราบอาหารและคราบหินปูน แต่ถ้าใช้มากเกินไปก็อาจจะทำลายเคลือบฟันของเราได้ สารขัดฟันที่นิยมใช้กันได้แก่ แคลเซียมฟอสเฟต (Ca2 (PO4)3) ไดแคลเซียมฟอสเฟตไดไฮเดรต (CaHPO4·2H2O) แมกเนเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) อะลูมิเนียมออกไซด์ไฮเดรต (Al2O3.H2O)   แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) หรือ ซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO2) เป็นต้น

3. สารชำระล้าง (Detergents) ช่วยทำให้เกิดฟองและไม่ทำให้ยาสีฟันไหลออกจากปากขณะแปรงฟัน  สารเคมีที่ใช้โดยทั่วไปคือ โซเดียมลอริลซัลเฟต

4. สารเพิ่มความชื้น (Humectants) ช่วยทำให้ยาสีฟันมีรสสัมผัสของความชื้นไม่แห้งแข็ง สารเคมีที่ใช้โดยทั่วไปคือ กลีเซอรีน (glycerin) ซอร์บิทอล (sorbitol) และน้ำ นอกจากนี้ซอร์บิทอลยังทำให้ยาสีฟันมีรสหวาน ซึ่งอาจทำให้เด็กกลืนกินเข้าไปได้

5. สารเพิ่มความข้นหนืด (Thickeners) ช่วยเพิ่มความข้นหนืดให้แก่ยาสีฟัน สารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxy methyl cellulose) และ คาราจีแนน (carragenan)

6. สารกันเสีย (Preservatives) ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในยาสีฟัน สารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ โซเดียมเบ็นโซเอท (sodium benzoate) เอทิลพาราเบน (ethyl paraben) เมทิลพาราเบน (methyl paraben) ไทรโคซาน (triclosan) เป็นต้น

วิธีใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์  
            ปริมาณยาสีฟันที่พอเหมาะในแต่ละช่วงอายุคือ
                       เด็กอายุ 6 เดือน - 1 ปีครึ่ง ให้มีปริมาณยาสีฟัน แตะแต่เพียงพอชื้น
                       เด็กอายุ1ปีครึ่ง – 3 ปี
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน
 เท่าเมล็ดถั่วเขียว
                       เด็กอายุ 3 ปี
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน เท่าเมล็ดข้าวโพด
                       เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป – ผู้ใหญ่
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน ครึ่งเซ็นติเมตร

            และควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และแปรงฟันให้นานครั้งละ 1 – 2 นาทีขึ้นไป     เพื่อให้ฟลูออไรด์จากยาสีฟันสัมผัสกับผิวฟันเป็นเวลานานพอ     จึงจะเกิดผลในการป้องกันฟันผุได้เต็มที่

ข้อมูลความปลอดภัย
            การกลืนยาสีฟันเข้าไปอาจทำให้คลื่นไส้    อาเจียนและท้องเสียได้ (1)    หรือ   หากได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ฟันตกกระ (dental fluorosis)  ในกรณีที่รุนแรง ฟันจะเกิดเป็นรอยสีน้ำตาล ผิวฟันจะขรุขระ เป็นจุดและทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะจะเกิดปัญหากับฟันแท้ของเด็กเมื่อเด็กบริโภคฟลูออไรด์มากเกินไปในช่วงก่อนอายุ 6 ขวบ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กกินหรือกลืนยาสีฟันเข้าไปในขณะที่แปรงฟัน

บรรณานุกรม
1.Toothpaste. Wikipedia, the Free Encyclopedia[Online http://www.blogger.com/en.wikipedia.org/wiki/Toothpsdte] accessed on April 19, 2009.
2.http://dental.anamai.moph.go.th/go_downloads.php?Ref=20060504155434-downloads-8.doc 
3. http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080919060624AASN5ll  
4. http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1796  5.      http://www.chemtrack.org/EnvForKids/chem-2.htm

ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/toothpaste.html

6 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. คุณมีข้อมูลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในอาหารบ้างไหม เพราะปัจจัย4 เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

    ตอบลบ
  4. ในชีวิตประจำของเรา ถ้าไม่อยากใช้สิ่งของ ที่มีสารเคมีเจื้อปน ในอาหาร น้ำดื่ม ผลิตภัฑณ์ต่างๆในท้องตลาด ต้องทำอย่งไร มีแนวทางหรือทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องใช้ผลิตภัฑณ์เหล่านี้ไหม ต่อการดำรงชีวืตบนโลกใบนี้

    ตอบลบ
  5. เมื่อในชีวิตประจำของเรา หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใช้สิ่งของ ผลิตภัฑณ์ต่างๆในท้องตลาด ที่มีสารเคมีเจื้อปน ในอาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ สารเคเหล่านี้มีผลข้างเคียงหรือไม่มี ต่อร่างกายมนุษย์
    ถ้ามีผลข้างเคียงต่อร่างกาย อาการจะเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร ด้วยการพึ่งพาตนเอง

    ตอบลบ
  6. คาสิโนออนไลน์ ที่ปลอดภัย โอนเงินรวดเร็ว มั่นคง ถ่ายทอดสดจากสถานที่จริง พบกับเกมส์คาสิโนออนไลน์ อาทิ ไพ่บาคาร่า, รูเล็ต, มังกรเสือ, กำถั่ว ที่นี่เลยค่ะ
    https://www.111player.com

    ตอบลบ