วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

น้ำยาย้อมผม

 ยาย้อมผม  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม   ทั้งเพื่อทำให้ดูอ่อนกว่าวัยจากการเปลี่ยนผมสีเทาหรือขาวให้เป็นสีเดิม  หรือเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น  ดังนั้นยาย้อมผมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและชาย
ส่วนประกอบของเส้นผม
            เส้นผมของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รากผม ซึ่งฝังอยู่ในผิวหนัง และส่วนของเส้นผมที่ประกอบด้วยเคราติน (keratin)   ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ   เมื่อตัดเส้นผมดูตามขวางจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ 1)  ชั้นนอก (cuticle)  ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกล็ดงู 2)  ชั้นกลาง (cortex)  ซึ่งเป็นชั้นที่มีเม็ดสี (melanin) อยู่     เป็นสีตามธรรมชาติของเส้นผม    หากขาดเม็ดสีนี้ก็จะทำให้เกิดผมขาว  การเปลี่ยนสีผมจะทำให้เม็ดสีในชั้นนี้เปลี่ยนแปลง    รวมทั้งการดัดหรือยืดผมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารในชั้นกลางนี้  และ 3) ชั้นใน (medulla) เป็นชั้นแกนของเส้นผม
ยาย้อมผมเปลี่ยนสีผมได้อย่างไร?
            ยาย้อมผมอาจเปลี่ยนสีผมเพียงชั่วคราว     หรือเปลี่ยนสีผมอย่างถาวร    (จนกว่าจะมีผมงอกขึ้นมาใหม่) ซึ่งผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในท้องตลาด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
            1. ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว  ประกอบด้วยสีที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่    เคลือบบนชั้นนอกของเส้นผม ซึ่งสีนี้จะหลุดออกภายหลังจากการสระผมด้วยแชมพูเพียงครั้งหรือสองครั้ง
            2. ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร ประกอบด้วยสีที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก    ซึ่งสามารถซึมเข้าไปถึงชั้นกลางของเส้นผมได้ สีจะคงทนได้นาน 3-5 สัปดาห์
            3. ยาย้อมผมชนิดถาวร ยาย้อมผมชนิดนี้ติดทนบนเส้นผม    และทนต่อการสระด้วยแชมพู  ซึ่งยาย้อมผมชนิดถาวรนี้มี  2  ชนิด   คือ  ยาเคลือบสีผม   ซึ่งสีจะสะสมที่ชั้นนอกของเส้นผมเท่านั้น (โดยสีที่ใช้มี 3 ประเภท  ได้แก่ สมุนไพรย้อมผม เกลือโลหะย้อมผม และสีผสม) และอีกชนิดหนึ่ง คือ ยาย้อมผมชนิดที่ซึมเข้าเส้นผม    ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการเปลี่ยนสีผม   ยาย้อมผมชนิดนี้ประกอบด้วยน้ำยา 2 ขวด คือ
            ขวดที่ 1  ครีมสี  เป็นของเหลวหรือครีม  ซึ่งประกอบด้วยสีที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม ที่เรียกว่า
สีออกซิเดชัน หรือสีพารา ได้แก่ พาราฟีนิลีนไดอะมีน (p-Phenylenediamine, PPD) และ พาราโทลูอีนไดอะมีน (p-Toluenediamine, PTD)  ซึ่งอยู่ในสภาวะด่างจากการเติม แอมโมเนีย (Ammonia) ด่าง  ทำให้ชั้นนอกของเส้นผมบวม  พอง    และแยกออกทำให้สีซึมเข้าสู่ชั้นกลางของเส้นผม  แต่ถ้าน้ำยาเป็นด่างมากจะละลายชั้นนอกของเส้นผม  ทำให้ผมหยาบกระด้าง  นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิว ที่ช่วยให้สีซึมเข้าเส้นผมได้ดี และสารที่ทำให้ข้นเพื่อให้สีไม่ไหลออกจากเส้นผม
            ขวดที่ 2  น้ำยาโกรก   ประกอบด้วย    6%    ของ   ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์    (Hydrogen peroxide)  ซึ่งทำหน้าที่ออกซิไดซ์สีพาราให้เกิดสีย้อมผม   หากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีความเข้มข้นมากกว่า  6%     จะทำลายเส้นผมและระคายเคืองหนังศีรษะ     แต่ถ้าความเข้มข้นต่ำกว่านี้ก็จะไม่สามารถออกซิไดซ์สีพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการใช้ยาย้อมผมชนิดนี้ต้องผสมน้ำยาทั้ง 2 ขวดทันทีก่อนใช้ย้อมผม   เพื่อให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์   ปล่อยออกซิเจนอิสระไปออกซิไดซ์สีพาราให้
เกิดสี สำหรับการเปลี่ยนสีผม
สารเคมีที่พบในยาย้อมผมและการเกิดพิษ
โพราโทลูอีนไดอะมีน (p-Toluenediamine, PTD)
ชื่อพ้อง ได้แก่ 2,5-diaminotoluene

สูตรโครงสร้างทางเคมี :



PTD ทำหน้าที่เป็นสีที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม มีลักษณะเป็นแผ่นหรือผลึกที่ไม่มีสี
            อาการแพ้ที่พบ   ได้แก่   การระคายเคืองผิวหนังและตา   หากโดนผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำและสบู่ หากกระเด็นเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำ
            ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท
พาราฟีนิลีนไดอะมีน (p-Phenylenediamine, PPD)
ชื่อพ้อง ได้แก่ phenylenediame, phenylenediame dihydrochloride, aminoaniline dihydrochloride, benzenediamine dihydrochloride, 1,4-diaminobenzene, p-aminoaniline  

สูตรโครงสร้างทางเคมี :
ลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือแดง และมีสีเข้มขึ้นเมื่อทิ้งไว้ในอากาศ
            PPD มีคุณสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์อย่างแรง เมื่อได้รับออกซิเจนจากตัวออกซิไดซ์ คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมดำที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม ในส่วนผสมของครีมสีจะมีความเข้มข้นต่าง ๆ (0.08-6%) กัน ซึ่งเมื่อผสมกับสารตัวอื่นจะให้สีต่างๆ กันด้วย
            เป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้ อาการแพ้ที่พบ  ได้แก่ หน้าและคอบวม ผื่นแพ้จากการสัมผัส (contact dermatitis)  ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ แสบร้อน หากโดนตาทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม หากสูดดมทำให้ไอ จาม วิงเวียนและหายใจไม่ออก
การปฐมพยาบาล
            ผู้ที่เกิดอาการแพ้ หากโดนผิวหนังและตา ให้ล้างออกด้วยน้ำ  และให้อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท หากอาการแพ้เกิดขณะทำการย้อมผม  ให้ล้างผมและหนังศีรษะด้วยสบู่อ่อน และน้ำเพื่อล้างสีย้อมออกไปให้หมด อาจนวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันมะกอก แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์ที่ละลายน้ำได้
            นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้    PPD    ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีม    และครีมกันแดดที่มี   PABA (p-aminobenzoic acid)   รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มี benzocaine หรือ procaine  เป็นส่วนผสม และไม่ควรรับประทานยาในกลุ่มซัลฟา (sulfonamides) เนื่องจากอาจพบอาการแพ้ได้เช่นกัน
แอมโมเนีย (Ammonia)  
ชื่อพ้อง ได้แก่ ammonia gas   aqueous ammonia    ammonium hydroxide
สูตรโครงสร้างทางเคมี : NH3
            ลักษณะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี และมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว
            แอมโมเนียที่เป็นส่วนผสมในครีมสี  จะอยู่ในรูปของแอมโมเนียม  ไฮดรอกไซด์ (Ammonium Hydroxide)  ซึ่งเป็นสารละลายในน้ำที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 1%  และมีความเป็นด่างสูง มีคุณสมบัติในการกัดกร่อน (corrosive) ทำให้ชั้นนอกของเส้นผมแยกออกเพื่อให้สีย้อมผมผ่านเข้าไปได้
            อาการพิษที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส   สูดดม   หรือเมื่อกระเด็นเข้าตา จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และตา อาจมีน้ำตา น้ำมูกไหล และไอ
            หากผิวหนังหรือเส้นผมสัมผัสกับแอมโมเนียให้ล้างด้วยน้ำสะอาดนานไม่ ต่ำกว่า 5 นาที แล้วตามด้วยสบู่และน้ำอีกครั้งหนึ่ง หากเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำหรือน้ำเกลือนาน 15 นาที  ทั้งนี้ก่อนการใช้ยาย้อมผมผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัส  (contact lens) ควรถอดเลนส์ออกก่อน เพื่อป้องกันไอระเหยของแอมโมเนียและสารเคมีอื่นๆ ที่อาจกระเด็นเข้าตา
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)
สูตรโครงสร้างทางเคมี : H2O2
            ลักษณะเป็นของเหลวใส  ไม่มีสี  ไม่คงตัว สามารถปลดปล่อยออกซิเจนได้โดยเฉพาะเมื่ออยู่รวมกับสารที่มี คุณสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์
            ทำหน้าที่  2  อย่าง  คือ  เป็นสารฟอกสี (bleaching หรือ lightening agent) ที่ทำลายเม็ดสีตามธรรมชาติ   ทำให้เส้นผมมีสีอ่อนลง ง่ายต่อการเปลี่ยนสีผม และเป็นสารออกซิไดซ์ (oxidizing agent)  ปลดปล่อยออกซิเจน เพื่อออกซิไดซ์สีพาราให้เกิดสีที่ย้อมติดกับผม ในยาย้อมผมไม่ควรมีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เกิน 6% แต่ที่พบในท้องตลาดมีตั้งแต่ 3-40%
            หากใช้โดยไม่มีการเจือจางจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง         
ส่วนประกอบอื่นๆ ที่พบในยาย้อมผม   เช่น   Nonoxynol-6, Nonoxynol-4, Propylene Glycol, EDTA, Sodium Metabisulfite, Resorcinol, O-Aminophenol, M-Aminophenol
จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณแพ้สารเคมีในยาย้อมผมหรือไม่?
            ก่อนการใช้ยาย้อมผมแต่ละครั้ง ควรทดสอบว่าคุณจะแพ้สารเคมีที่เป็นส่วน ผสมอยู่ในยาย้อมผมหรือไม่  แม้คุณจะเคยใช้ยาย้อมผมชนิดนั้นโดยไม่เกิดการแพ้มาก่อนก็ตาม โดยปกติจะมีวิธีทดสอบการแพ้ที่เรียกว่า  Patch Test   ระบุในใบแทรกที่แนบมากับผลิตภัณฑ์  ซึ่งทำได้โดยทำความสะอาดบริเวณหลังใบหู   หรือบริเวณข้อพับข้อศอกด้านใน  แล้วใช้ก้านสำลีจุ่มยาย้อมผมที่ผสมแล้วเพียงเล็กน้อยทาที่บริเวณดังกล่าว  ให้กว้างประมาณครึ่งนิ้ว   ทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออกเป็นเวลา 24 ถึง 48 ช.ม.หากมีอาการคันหรือผื่นแดง ก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้น
ผื่นแพ้จากการสัมผัส (Contact Dermatitis)
            สารเคมีหลายตัวในยาย้อมผม อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน โดยเฉพาะ PPD  ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้ยาย้อมผมส่วนใหญ่  ลักษณะผื่นแพ้อาจเป็นผื่นแดง  หรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ  คันมาก  และจะขึ้นเฉพาะที่บริเวณที่สัมผัสถูกยาย้อมผม   ตุ่มน้ำใสอาจรวมกันจนเป็นตุ่มพองใหญ่    เมื่อแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหล  เมื่ออาการดีขึ้น  ผิวหนังอาจแห้งเป็นขุย หรือหนาตัวขึ้น อาจมีสีคล้ำลง หรือเป็นรอยด่างขาวชั่วคราว เมื่อมีอาการคันไม่ควรเกาจนเป็นแผลเพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
            การรักษาผื่นแพ้จากการสัมผัส  ขั้นแรก  คือ การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้  หากอาการแพ้เกิดขึ้นแล้ว   ให้ชะแผลด้วยน้ำเกลือ   แล้วเช็ดให้แห้ง   ทาด้วยครีมสเตียรอยด์   แต่ถ้าเป็นบริเวณกว้างควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย    ถ้ามีหนองหรือน้ำเหลือง   ให้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
ข้อควรระวังในการใช้ยาย้อมผม
          - ไม่ควรย้อมผมหากมีแผลบนศีรษะ
          - ทดสอบการแพ้ก่อนย้อมผม 24-48 ช.ม.
          - สวมถุงมือยางขณะทำการย้อมผม
          - ทำตามวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์
          - ให้หยุดใช้  และล้างออกด้วยน้ำทันที  เมื่อมีอาการคัน ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ใช้ หรือที่ถูกน้ำยา
          - เก็บผลิตภัณฑ์ย้อมผมในที่มืด และเย็น
          - ไม่เทน้ำยาผสมที่เหลือกลับขวด  เนื่องจากภาชนะบรรจุอาจระเบิด  ให้ทิ้งในที่ที่เหมาะสม
          - ไม่ใช้ยาย้อมผม ย้อมขนตา หรือขนคิ้ว เพราะอาจทำให้ตาบอด
          - หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาย้อมผม

            เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง  พ.ศ. 2517  เกี่ยวกับคำเตือนซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องระบุไว้บนฉลากของน้ำยาย้อมผม         
            หากคุณเกิดอาการแพ้เมื่อใช้ยาย้อมผมชนิดถาวรแบบที่ซึมเข้าเส้นผมตามที่ได้ กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดอื่นๆ ให้คุณเลือกใช้ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติ ซึ่งปราศจาก PPD ที่มักทำให้เกิดอาการแพ้  ดังนั้นการอ่านฉลากที่ระบุส่วนประกอบสำคัญในยาย้อมผม     จะช่วยให้คุณเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวเอง      และทำให้คุณสวยสมวัยอย่างปลอดภัยได้

บรรณานุกรม
Bisphenol A. Wikipedia, the Encyclopedia
[Online http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=1548] accessed on August 23, 2007.
Toxic chemical threatens children’s health
[Online http://www.wwf.org.uk/news/n_0000000145.asp] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://website.lineone.net/~mwarhurst/bisphenol.html] accessed on August 23, 2007.
What are endocrine disruptors?
[Online http://www.sph.emory.edu/PEHSU/html/exposures/endocrine.htm] accessed on August 23, 2007.
The Bisphenol-A Debate: A Suspect Chemical in Plastic Bottles and Cans by Catherine Zandonella, M.P.H
[online http://www.thegreenguide.com/doc/114/bpa] accessed on August 23, 2007.
Legislature considers bill to ban chemical from kids’ products. Bisphenol A found in pacifiers, toys and baby bottles. By Jane Kay, Chronicle Environment Writer, on Thursday, March 31, 2005
[online http://sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/c/a/2005/03/31/BAGIOC13FM1.DTL] accessed on August 23, 2007.



           

น้ำยาล้างเล็บ

 ส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำยาล้างเล็บคือ อะซีโตน หรือ Acetone โดย อะซีโตนเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ ที่ไม่มีสี มีความเป็นพิษต่ำ ระเหยง่าย จึงมักถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมและใช้ในงานด้านเภสัชกรรม  โดยอะซีโตนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 80%  มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อ (antiseptic) นอกจากนี้ อะซีโตนยังถูกสร้างขึ้นจากขนวนการเมตาโบลิซึมในร่างกาย โดยเป็นหนึ่งใน  Ketone bodies  ซึ่งพบในเลือด  เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (ketoacidosis)  จากภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (diabetic acidosis) หรือภาวะเลือดเป็นกรดจากการอดอาหาร (starvation acidosis) ซึ่งถ้ามีอะซีโตนในเลือดในปริมาณมาก จะสามารถได้กลิ่นอะซีโตนจากลมหายใจของ ผู้ป่วย
            แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ได้มีการกวดขันเรื่องการใช้ยาเสพติดที่เป็นสารระเหย เช่น  กาว  ทินเนอร์ แลคเกอร์ มากขึ้น ทำให้วัยรุ่นที่ติดสารระเหยหันมาใช้ยาทาเล็บ และน้ำยาล้างเล็บ ซึ่งมีอะซีโตนเป็นองค์ประกอบหลัก หยดใส่สำลีหรือทามือแล้วสูดดมแทน เนื่องจากยาทาเล็บและน้ำยาล้างเล็บหาซื้อได้ง่ายกว่า และมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม   และดำเนินคดียากกว่าการดมกาว หรือ ทินเนอร์  นอกจากนี้การสูดดมอะซีโตนในความเข้มข้นสูง จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและ เกิดการเสพติดได้แช่นเดียวกับสารระเหยทั่วไป
ชื่อสารเคมี : อะซีโตน  Acetone
ชื่อพ้อง :  2-Propanone, beta-Ketopropane, Dimethyl ketone, Methyl Ketone, Aceton, Chevron acetone, Dimethylformaldehyde, Dimethylketal,  Ketone, dimethyl  ketone propane, Pyroacetic acid และ Pyroacetic ether

สูตรโครงสร้างทางเคมี  


  C3H6O
  MW 58.08
 Log P = 0.2

NFPA Label Key


 กลไกการออกฤทธิ์
            อะซีโตนเป็นตัวทำละลายอินทรีย์มีความเป็นขั้วสูงและมีพิษต่ำ สามารถล้างสีทาเล็บ Route of Exposure และการเกิดพิษ
            อะซีโตนสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง  การสูดดมและการกิน โดยอะซีโตนสามารถแพร่กระจายสู่ส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว  อะซีโตนจะถูกทำลายที่ตับและถูกกำจัดออกทางลมหายใจและปัสสาวะ โดยไม่มีการสะสมของสารในร่างกาย โดยปริมาณอะซีโตนในเลือดที่ทำให้พิษคือ 200 - 300 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรของเลือด  และถ้าได้รับอะซีโตนในปริมาณ 550 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรของเลือดจะทำให้เสียชีวิต
            เมื่อรับประทาน อะซีโตนจะทำให้เกิดการระคายเคืองเฉพาะที่ของเยื่อบุทางเดินอาหาร  ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้   อาเจียน  นอกจากนี้ อะซีโตนยังถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหาร  และเยื่อบุทางเดินอาหาร  เข้าสู่กระแสเลือด  และทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทตามมา  การรับประทานอะซีโตนในปริมาณที่มากกว่า  50  มิลลิลิตร  (39.6 กรัม).  จะทำให้เกิดพิษของอะซีโตนอย่างเฉียบพลัน (Acute toxic effects)  ซึ่งทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท คล้ายกับการรับประทานเหล้า/เอธานอล ได้แก่ เดินโซเซ (ataxia)  ง่วงซึม (sedation) หมดสติ โคม่า และระบบทางเดินหายใจถูกกด (respiratory depression)   แต่อาการทางระบบประสาทที่เกิดจากการรับประทานอะซีโตน   จะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่า การรับประทานเหล้า  นอกจากอาการดังกล่าวยังมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาเจียนและ hematemesis  ภาวะระดับน้ำตาล   และคีโตนในเลือดสูง   ภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis)   และตับ และไตถูกทำลาย (hepatic and renal damage)  แต่ถ้าคนที่มีน้ำหนัก 67.5 กิโลกรัม  จะเสียชีวิตถ้าได้รับอะซีโตนในปริมาณที่มากกว่า 100  มิลลิลิตร (79.1 กรัม)   การรับประทานอะซีโตนไม่ทำให้เกิดพิษของอะซีโตนอย่างเรื้อรัง (Chronic toxic effects)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
            ควรให้กินน้ำหรือนมมากๆ
            เมื่อสัมผัสอะซีโตน ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้  และไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่ถ้าเป็นการสัมผัสกับอะซีโตนต่อเนื่องเป็นเวลานาน   จะทำให้ผิวแห้ง  และเกิดการอักเสบของผิวตามมาเนื่องจาก  อะซีโตน  เป็นสารที่สามารถละลายไขมัน (defatting agent)   ถ้าอะซีโตนเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา
            การสูดดมอะซีโตน  จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา    เยื่อบุจมูก   และเยื่อบุทางเดินหายใจ   และทำให้เกิดการกดของระบบประสาท เช่นเดียวกับสารระเหย โดยการกดประสาทของอะซีโตนมีหลายระดับ ตั้งแต่การเปลี่ยนพฤติกรรมจนถึงการเสพติด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณอะซีโตนที่ได้รับโดยถ้าได้รับในปริมาณไม่เกิน  237 ส่วนต่อล้านส่วน (574 มิลลิกรัมต่อลูกบากศก์เมตร) เป็นเวลา 4 ชั่วโมง  จะให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น ตื่นเต้น หงุดหงิด และ hostility  ถ้าได้รับในปริมาณมากถึง 250 ส่วนต่อล้านส่วน (605 มิลลิกรัมต่อลูกบากศก์เมตร) เป็นเวลา 5.25 ชั่วโมง  ระบบประสาทจะถูกกดมากขึ้นและทำให้เกิดอาการหมดแรงอ่อนเพลียและปวดศีรษะ  ถ้าได้รับในปริมาณตั้งแต่ ส่วนต่อล้านส่วน (1210 มิลลิกรัมต่อลูกบากศก์เมตร) ขึ้นไป เป็นเวลา  6 ชั่วโมง จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ  และถ้าได้รับอะซีโตน ในปริมาณที่สูงมากหรือมากกว่า > 29 กรัมต่อลูกบากศก์เมตรจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงง สับสน และหมดสติ
            ถึงอย่างไรก็ตาม   อะซีโตนไม่ใช่สารก่อเกิดมะเร็ง  และไม่เหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ (teratogenic activity)
อาการแสดงและการวินิจฉัย
            อาการแสดงของการเกิดพิษ    ขึ้นกับลักษณะการได้รับอะซีโตนเข้าสู่ร่างกาย    ปริมาณของอะซีโตนที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับ

การเก็บรักษา
            เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บใกล้ไฟ

บรรณานุกรม
http://risk.lsd.ornl.gov/tox/profiles/acetone.shtml
http://www.headlice.org/lindane/chemicals/acetone.htm
http://www.bu.edu/es/labsafety/ESMSDSs/MSAcetone.html
http://www.raklukefamilygroup.com/

ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/acetone.html
           
น้ำยายืดผม

ปัจจุบันเครื่องสำอางมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน   การยืดผมถาวรเพื่อความเป็นระเบียบของเส้นผม เส้นผมตรง ไม่เสียเวลาในการจัดแต่งทรงผม เป่าหรือไดร์หลังสระ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามอันตรายที่เกิดจากเครื่องสำอางก็อาจพบได้บ้างถึงแม้จะพบน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณ และจำนวนคนที่ใช้
หลักในการยืดผม
          ตามปกติเส้นผมที่มีสุขภาพดีมีค่า pH 4.5-5.5 ค่า pH   เป็นค่าที่บอกความเป็นกรด-ด่าง มีค่าตั้งแต่ 1-14 โดยที่ค่า pH 1 แสดงความเป็นกรดมากที่สุด ส่วนค่า pH 14 จะเป็นด่างมากที่สุด น้ำยาที่ใช้ยืดผม เรียกว่า รีแลกเซอร์ (relaxers) มีค่า pH 8.4-14   จึงมีคุณสมบัติที่ไปทำให้เส้นผมเปลี่ยนแปลงจากสภาวะที่เป็นกรดอ่อนๆ ไปเป็นด่าง  เป็นสาเหตุทำให้ผมแห้ง หยาบ  และเส้นผมอาจถึงกับแตกหรือขาดได้ ดังนั้นหลังจากยืดผมใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แชมพูและครีมปรับสภาพผมเพื่อปรับสมดุล pH ของเส้นผม

          เมื่อทำการยืดผม น้ำยายืดผมจะแทรกซึมเข้าไปในชั้นกลาง (cortex) ของเส้นผมและเกิดการทำปฏิกิริยากับพันธะไดซัลไฟด์ (di-sulfide bonds) หรือพันธะซิสเตอีน (cysteine bonds) ซึ่งเป็นพันธะที่เชื่อมสายโซ่โปรตีนเข้าด้วยกัน  ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรง    และความคงตัวของโครงสร้างเส้นผม   ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำยายืดผมจะทำให้สายโซ่โปรตีนนี้แตกออก เส้นผมอ่อนตัวลงสามารถจัดรูปแบบใหม่ได้ตามต้องการ  และเมื่อทำการล้างน้ำยาออก กระบวนการต่อไปคือการทำให้เป็นกลางเพื่อปรับสภาวะผมให้มี  pH  เป็นปกติเกิดการซ่อมแซมสายโซ่โปรตีนที่แตกออกให้กลับมาเชื่อมกันมีความยืดหยุ่นและคงตัวตามเดิม ในรูปแบบใหม่ที่เส้นผมถูกทำให้ตรงไว้ ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดภายหลังนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปนานประมาณ   48   ชั่วโมงหลังจากรับบริการ    ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะสระผมในช่วงเวลานี้

          น้ำยายืดผม   มีสารที่ใช้อยู่   3   ชนิด   คือ    sodium hydroxide,     guanidine hydroxide  และ  ammonium thioglycolate

          โซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นรีแลกเซอร์ที่เป็นอันตราย   เนื่องจากมีความเป็นด่างแรงที่สุด มี pH 10-14  มีฤทธิ์กัด   ควรจะใช้กับเส้นผมที่หยิกมากๆ   ถ้าใช้ไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บแสบหนังศีรษะ เส้นผมแห้งและแตก

          ส่วนสาร guanidine hydroxide (ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารผสมระหว่าง calcium hydroxide และ guanidine carbonate)   และ ammonium thioglycolate  มี  pH 9-9.5   มีความแรงน้อยกว่าโซเดียมไฮดรอกไซด์

          ในปัจจุบันการยืดผมให้ตรง  จะใช้ความร้อนเข้าช่วยโดยใช้สาร    ammonium thioglycolate และแผ่นเหล็กเรียบ (flat iron)  ที่ความร้อนสูง 170-230  องศาเซลเซียส  ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เส้นผมยืดตรงอย่างถาวร อ่อนนุ่ม เป็นประกาย และไม่โค้งงอ หยิก ซึ่งเส้นผมที่จะทำการยืดตรงนี้ควรมีความยาวอย่างน้อยสี่นิ้ว  เวลาที่ใช้ในการทำทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมงสำหรับผมสั้น ส่วนผมยาวจะใช้เวลานาน 4-5 ชั่วโมง   เนื่องจากใช้เวลานาน   ค่าบริการจึงแพง   อย่างไรก็ตามควรมีการทำซ้ำทุก 6 เดือน เนื่องจากผมที่งอกยาวขึ้นมาใหม่

          นอกจากนี้ไม่ควรสระผมเป็นเวลาอย่างน้อย     48   ชั่วโมง     หลังจากเข้ารับบริการ   ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปรับสมดุล  pH  และยังไม่แนะนำให้ทำการกัดสีผมหรือทำไฮไลท์เส้นผมหลังจากทำการยืดผม
ข้อควรระวัง           
          การไปใช้บริการยืดผมตรง     ควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์    เลือกน้ำยาที่เหมาะกับสภาพเส้นผม  และเช็คหนังศีรษะว่ามีแผลหรือไม่ มักพบอาการแพ้เป็นผื่นระคายสัมผัสในช่างทำผม    มากกว่าคนที่ถูกยืดผม   โดยมักจะมีจมูกเล็บอักเสบ   และเล็บเสียรูป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ จึงควรมีข้อระวัง ดังนี้
          1. ระวังอย่าให้เข้าตา เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
          2. ต้องหยุดใช้ และล้างออกด้วยน้ำทันที เมื่อมีอาการคันปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณที่ใช้ และที่ถูกน้ำยา หรือมีเม็ดผื่นแดง
          3. ห้ามเกาศีรษะอย่างแรงในระหว่างสระ    เพราะอาจเกิดรอยถลอก   เป็นแผลหรือเม็ดผื่นแดง
          4. ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผล หรือโรคผิวหนัง
หมายเหตุ  การยืดผมใช้หลักการและสารเคมีเช่นเดียวกับการดัดผมให้เป็นลอน แต่ต่างกันตรงที่การยืดผมเป็นการดัดผมที่หยิกให้กลับตรง

สารเคมีที่ใช้ในน้ำยายืดผม
Ammonium thioglycolate
ชื่อพ้อง  ได้แก่ Ammonium mercaptoacetate; Acetic acid,mercapto-,monoammonium salt; Thioglycollic acid,ammonium salt; Ammonium thioglycolate,60% Aqueous Soln.

สูตรเคมี  C2H4O2S.H3N   มีน้ำหนักโมเลกุล  109.15
          Ammonium thioglycolate เป็นของเหลวไม่มีสี หรืออาจมีสีชมพูอ่อนๆ จัดเป็นประเภทสารที่ใช้ในการจัดแต่งทรงผมเพื่อดัด    หรือยืดผม    ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับยืดผมมีความเข้มข้นในช่วง 5-10%  แต่อาจมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นถึง 25-50% นอกจากนี้ Ammonium thioglycolate ยังอาจใช้ในการทำสีผมถาวร ที่ความเข้มข้น 0.25% เพื่อใช้เป็นสารต้านออกซิเดชันเพิ่มความคงตัว
ความเป็นพิษ
          เนื่องจากมีความเป็นด่างสูง  จึงไม่สามารถใช้วิธีที่เรียกว่า Patch Test ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบการแพ้ที่ผิวหนังก่อนการใช้สารได้ สารนี้ทำให้เกิดระคายเคืองเป็นผื่นแพ้เมื่อสัมผัสผิวหนัง (contact dermatitis)   ซึ่งมักเกิดเมื่อใช้ในปริมาณที่มีความเข้มข้นเกินขนาด   หรือใช้เป็นเวลานานพอสมควร เป็นพิษหากเข้าตา ดังนั้นจึงต้องป้องกันการสัมผัสกับสารละลายนี้ที่ผิวหนังและตาในทุกกรณี อาการแพ้ที่พบ ได้แก่ ผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ แสบร้อน หากโดนตาทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม หากสูดดมทำให้ไอ จาม วิงเวียนและหายใจไม่ออก
การปฐมพยาบาล
          หากเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำนานอย่างน้อย   15   นาที  และถ้าเกิดเยื่อบุตาอักเสบ  ตาบวม น้ำตาไหล   ควรรีบให้อยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์  หากโดนผิวหนังให้เปลี่ยนเสื้อผ้านั้นออกและล้างด้วยน้ำและสบู่ ผิวหนัง และให้อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
     
บรรณานุกรม
Bisphenol A. Wikipedia, the Encyclopedia
[Online http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=1548] accessed on August 23, 2007.
Toxic chemical threatens children’s health
[Online http://www.wwf.org.uk/news/n_0000000145.asp] accessed on August 23, 2007.
Bisphenol A
[Online http://website.lineone.net/~mwarhurst/bisphenol.html] accessed on August 23, 2007.
What are endocrine disruptors?
[Online http://www.sph.emory.edu/PEHSU/html/exposures/endocrine.htm] accessed on August 23, 2007.
The Bisphenol-A Debate: A Suspect Chemical in Plastic Bottles and Cans by Catherine Zandonella, M.P.H
[online http://www.thegreenguide.com/doc/114/bpa] accessed on August 23, 2007.
Legislature considers bill to ban chemical from kids’ products. Bisphenol A found in pacifiers, toys and baby bottles. By Jane Kay, Chronicle Environment Writer, on Thursday, March 31, 2005
[online http://sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/c/a/2005/03/31/BAGIOC13FM1.DTL] accessed on August 23, 2007.
ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/ammonium-thioglycolate.html
ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนผู้บริโภคนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะทำให้เบาแรงในการทำความสะอาดมาก เหมือนกับที่โฆษณาว่าแค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีอาจใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นก็ได้ ดังนั้นน่าจะมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ซึ่งโดยทั่วไปใช้กรดเกลือหรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริกรวมถึงวิธีการใช้  ข้อควรระวังในการใช้ ความเป็นพิษ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนวิธีการเก็บรักษา
โครงสร้างทางเคมี
            โครงสร้างทางเคมีของกรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ คือ HCl  ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ  8  ถึงร้อยละ 15  โดยน้ำหนัก และมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาด ชะล้างรอยเปื้อนภายใน 5 นาที  กรดไฮโดรคลอริกมีคุณสมบัติเป็นกรดแก่ ทำปฏิกิริยากับหินปูน(แคลเซียม) เกิดฟองฟู่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถกัดกร่อนโลหะได้เป็นอย่างดี จึงใช้ผสมทำความสะอาดห้องน้ำ เพื่อขจัดคราบที่เกิดจากการตกตะกอนของอนุภาค โลหะซึ่งเป็นคราบขาวเทา หรือคราบสนิมสีส้ม ตามผนังและพื้นห้องน้ำได้ นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่าง กระเบื้อง และโถส้วม
            นอกจากนั้นอาจจะผสมกับกรดฟอสฟอริก และสารลดแรงตึงผิวเช่น Nonylphenol, Linear Alkyl Benzene Sulfonate (LAS)  เพื่อให้สารออกฤทธิ์สัมผัสกับพื้นผิวห้องน้ำได้ดีขึ้น และทำความสะอาดได้ทั่วถึงมากขึ้น 
            อย่างไรก็ตามถ้าใช้ผลิตภัณฑ์สูตรนี้บ่อยๆ อาจทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำค่อย ๆ หลุดออก ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นเวลานานพื้นห้องน้ำอาจถูกกัดเซาะผิวหน้า ทำให้ขรุขระไม่เรียบมัน  และทำให้คราบสกปรกติดฝังแน่น ตรงรอยหยาบของผิวกระเบื้องได้มากขึ้น โดยทั่วไประยะเวลาของการถูกกัดเซาะนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของ ผิวกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นด้วย

ประโยชน์  ใช้ทำความสะอาด  และฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นห้องน้ำฝาผนัง  และเครื่องสุขภัณฑ์ เหมาะสำหรับคราบสกปรกมาก และคราบฝังแน่น

วิธีการใช้ (กรดไฮโดรคลอริก 15%)
            สำหรับการทำความสะอาด พื้นห้องน้ำ ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (การผสมให้ค่อยๆ เทน้ำยาลงในน้ำ)
            สำหรับการทำความสะอาด โถส้วม ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:1
            สำหรับการฆ่าเชื้อโรค หลังทำความสะอาดแล้ว ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 เทราดลงบนพื้นบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

            ห้ามเทน้ำลงในน้ำยาที่มีกรดไฮโดรคลอริก

ข้อควรระวังในการใช้
          - เมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนประกอบ นอกจากจะใช้ให้เหมาะสมกับงานแล้ว ควรมีความระมัดระวังในการใช้และคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะได้รับด้วย ดังนี้           
          - ขณะใช้ควรสวมถุงมือยาง และรองเท้ายาง ภายหลังจากการใช้หรือหยิบจับ ควรล้างถุงมือยาง รองเท้ายาง และมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง           
          - ระวังอย่าให้เข้าตา ถูกผิวหนัง หรือสูดดม และห้ารับประทาน           
          - ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริก หรือภาชนะบรรจุลงในแม่น้ำ คูคลอง หล่งน้ำสาธารณะ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม

ความเป็นพิษ
            กรดไฮโดรคลอริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ    สามารถเข้าสู่ร่างกายได้    โดยการสัมผัส การหายใจและการรับประทานหรือกลืนกิน โดยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
            ถ้ากรดไฮโดรคลอริกถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ บวม แดง เจ็บแสบและอาจทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรต่อผิวหนัง
            ไอระเหยหรือละอองไอของกรดไฮโดรคลอริกแม้ในปริมาณน้อยๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ ทำให้ตาแดง ในความเข้มข้นสูงๆ ทำให้เกิดแผลไหม้หรือตาบอดได้
            การสูดดมไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริกทำให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนระบบทางเดินหายใจ  ตั้งแต่แสบจมูก ลำคอ  ไปจนถึงหายใจลำบากได้  ถ้าสูดดมในปริมาณสูงๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผลอักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมน้ำและหายใจลำบาก
            การกลืนหรือกินจะทำให้เกิดการระคายเคือง  และแผลไหม้ที่ปาก  ลำคอ  ท่ออาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมีอาการตั้งแต่กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ชัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต

การปฐมพยาบาล
            หากถูกผิวหนัง   ให้รีบล้างออกด้วยการรินน้ำผ่านเป็นปริมาณมากๆ   เป็นเวลาอย่างน้อย  15  นาที  ถ้าเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดออกแล้วล้างร่างกายด้วยน้ำและสบู่อ่อน   ส่วนเสื้อผ้าให้นำไปซักก่อนนำมากลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
            หากเข้าตา ให้รีบล้างออกจากตาโดยเร็ว ด้วยการรินน้ำอุ่นให้ไหลผ่านตาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที  พร้อมเปิดเปลือกตาบนและล่างเป็นครั้งคราว  หากยังมีอาการระคายเคืองอยู่ให้นำผู้ป่วยไปพบแพทย์
            หากหายใจเข้าไป    ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่สัมผัสมายังที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์   ถ้ามีอาการรุนแรงให้ช่วยผายปอดและปั๊มหัวใจ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
            หากกลืนหรือกินเข้าไป ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา  ถ้ายังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ หรือให้ดื่มน้ำนมตามเข้าไปหลังจากดื่มน้ำเข้าไปแล้ว ล้างบริเวณปากผู้ป่วย และให้บ้วนปากด้วยน้ำ รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมด้วยภาชนะบรรจุ และฉลากของผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ

การเก็บรักษา
            ควรแยกเก็บไว้ในที่มิดชิด เป็นสัดส่วนห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง และอย่าเก็บรวมกับอาหารหรือวางปะปนกับอาหาร  นอกจากนี้ควรจัดเก็บในบริเวณที่แห้งไกลจากความร้อน แสงแดด เปลวไฟ วัตถุหรือสารไวไฟ  รวมถึงโลหะหนัก เนื่องจากกรดไฮโดรคลอริกสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะได้เป็นแก๊สไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ง่าย  ซึ่งทำให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิดได้ และเมื่อใช้หมดแล้วควรทิ้งหรือทำลายภาชนะบรรจุหรือทำลาย  ห้ามนำมาใส่อาหารหรือของบริโภคอื่น

บรรณานุกรม
1. กานดา ว่องไวลิขิต “ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรไหนดี” ,วารสารฉลาดซื้อ, ฉบับที่ 9,หน้า 42-44, 2538.
2. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002498.htm (2.12.2009)
3. http://www.cahe.nmsu.edu/ (2.12.2009)
ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/hydrochloric-acid.html
น้ำยาซักผ้าขาว

นอกไปจากผงซักฟอก   หนึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้า  ที่เหล่าคุณแม่บ้าน
ทั้งหลายน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คงจะหนีไม่พ้น “น้ำยาซักผ้าขาว”
      หลาย ๆ ท่านคงจะเคยใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับผงซักฟอก เพื่อเพิ่มพลังขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคราบหมึกคราบอาหาร   คราบชากาแฟ  เพื่อให้เสื้อผ้าขาวสะอาดสดใส  ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปอยู่ในรูปของเหลวบรรจุขวดพลาสติกสวยงาม แต่คุณแม่บ้านเคยทราบหรือไม่ว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้   มีสารเคมีชนิดใดเป็นสารสำคัญ   ในการออกฤทธิ์ขจัดคราบ
ทำความสะอาดเสื้อผ้า และมีความปลอดภัยในการใช้เพียงใด

      สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ    ในน้ำยาซักผ้าขาวที่ผู้ผลิตนิยมใช้คือ    “โซเดียมไฮโปคลอไรท์” ซึ่งนอกจะมีคุณสมบัติในการขจัดคราบเปื้อนและฟอกผ้าขาว  ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ด้วย  ในบางกรณี  จึงมีการนำน้ำยาซักผ้าขาวมาใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับราดพื้น   เช่น ในช่วงเหตุการณ์สึนามิ     ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค     ได้แนะนำให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์  ความเข้มข้น 0.5 – 1% ราดบริเวณพื้นที่ต้องการฆ่าเชื้อ  รวมไปถึงทั้งการใช้ล้างพาหนะที่ขนย้ายผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามต้องระวังการใช้กับวัตถุที่เป็นโลหะหนัก เช่น เหล็ก ทองแดง และ นิคเกิล เป็นต้น
โครงสร้างทางเคมีและกลไกการขจัดคราบ
      โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีโครงสร้างทางเคมีคือ      NaOCl      ในน้ำยาซักผ้าขาวโซเดียมไฮโป
คลอไรท์ จะแตกตัวออกเป็น Na+ และ ClO-  ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเกลือ NaOH และ HClO โซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารออกซิแดนท์ที่รุนแรงเกิดการปลดปล่อยแอคทีฟออกซิเจน [O] ที่เป็นตัวการในการฟอกขาวให้กับเสื้อผ้านั่นเอง

      ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ   NaOH    อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย
เพื่อทำให้สารมีความเป็นด่าง  เพราะในบางครั้ง  หากน้ำที่ใช้ตามบ้านมีความเป็นกรดเล็กน้อย จะไปทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เกิดเป็นกาซคลอรีนซึ่งมีความเป็นพิษและยังลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำยาซักผ้าขาว การเติมเกลือ NaOH จึงจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวมากขึ้น
      อย่างไรก็ตามต้องระวังในแง่การใช้ เพราะการที่น้ำยาซักผ้าขาวมีความเป็นด่างสูงมากขึ้นจากการเติมเกลือดังกล่าว   ประกอบกับการมีโซเดียมไฮโปคลอไรท์  จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงขึ้น หากหกโดนเสื้อผ้าสวย ๆ โดยตรง อาจทำให้ขาดเป็นรูได้  จึงต้องอ่านฉลากแนะนำการใช้ให้ดีว่าควรต้องเจือจางด้วยน้ำในปริมาณเท่าใด
การใช้เป็นน้ำยาซักผ้าขาว
      สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวมีอยู่ประมาณ 3-6% ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและระยะเวลาการเก็บ เนื่องจากโซเดียมไฮโปคลอไรท์ไม่ค่อยเสถียร เสื่อมสลายไปตามระยะเวลา โซเดียมไฮโปคลอไรท์ออกฤทธิ์ขจัดคราบเปื้อนออกจากเสื้อผ้าได้ดี โดยเฉพาะที่ทำจากผ้าฝ้าย  นอกจากนี้ยังจัดเป็นน้ำยาซักผ้าขาวเพียงชนิดเดียวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียไปด้วยในตัวความเป็นพิษโซเดียมไฮโปคลอไรท์ในน้ำยาซักผ้าขาว  ไม่เพียงแต่จะมีความสามารถในการขจัดคราบเปื้อนบนเสื้อผ้าแล้ว       สารนี้ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง     เป็นผลมาจากคุณสมบัติในการเป็นสาร
ออกซิแดนท์ที่แรง  ดังนั้นจึงต้องระวังการสัมผัสถูกผิวหนัง การกระเด็นเข้าตาหรือการสูดดมโดยตรงจากขวดผลิตภัณฑ์
อาการพิษ
      ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่อยู่ในน้ำยาซักผ้าขาว มีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรง คุณแม่บ้านที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะควรเก็บให้พ้นมือจากเจ้าตัวเล็กทั้งหลาย    เพราะหากเผลอรับประทานเข้าไปแล้วจะ
เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุที่ปากและลำคอ ปวดท้องและแผลเปื่อยตามบริเวณทางเดินอาหาร

      ในกรณีที่หากเผลอเทหกจากขวดรดมือโดยตรง  อาจเกิดการระคายเคืองได้ปานกลางและมีผื่นแดงได้บ้าง  แต่หากกระเด็นเข้าตาแล้วจะเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง  หากสูดดมโดยตรงจะทำ
ให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของทางเดินหายใจได้

      แต่ที่พอจะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง  สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์นี้คือ  ยังไม่มีรายงานการก่อมะเร็ง
โดยการใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นองค์ประกอบ
ข้อควรระวัง
           - นอกเหนือไปจากการที่ต้องระวังการสัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรงแล้ว    หากในบ้านมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ๆ อยู่      ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เทสารเหล่านี้ปนกัน โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีกรดเป็นองค์ประกอบ  เช่น  น้ำยาล้างห้องน้ำบางชนิด เพราะกรดจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์  เกิดก๊าซคลอรีนในระหว่างการผสมและหากเกิดการสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดพิษ      ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ       และยังทำให้ประสิทธิภาพในการขจัดคราบของน้ำยาซักผ้าขาวที่มีการปนเปื้อนของกรดนั้นลดลง     
           - นอกจากนี้  ยังต้องระวังการผสมกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นองค์ประกอบ  เช่น  ในน้ำยาเช็ดกระจก   เพราะจะทำให้เกิดกาซคลอรามีน (chloramine) ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นกัน  และไม่ควรนำมาทำความสะอาดเสื้อผ้าที่เปื้อนปัสสาวะ  เพราะในปัสสาวะมีแอมโมเนียอยู่     
           - อย่างไรก็ตามก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้งควรอ่านฉลากการใช้ให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

การปฐมพยาบาล
      หากคุณแม่บ้านหรือสมาชิกในบ้านเผลอตัวไปสัมผัสเข้าโดยตรง   ไม่ต้องตกใจให้รีบปฏิบัติดังนี้

      - ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ฉีดล้างผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากๆ

      - ถ้าสัมผัสถูกตา  ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที   พร้อมกระพริบตาถี่ๆขณะทำการล้าง หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์

      - ถ้าหายใจเข้าไป  ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์  หากมีอาการรุนแรงให้นำส่งไปพบแพทย์

      - ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป  ห้ามไม่ให้สิ่งใดเข้าปากผู้ป่วยที่หมดสติ   หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ดื่มสารละลายโปรตีน  หรือถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ดื่มน้ำปริมาณมากๆ   อย่าให้ผู้ป่วยดื่มน้ำส้ม  เบคกิงโซดา ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด จากนั้นให้นำส่งไปพบแพทย์
การเก็บรักษา
      บางครั้งคุณแม่บ้านบางท่านอาจอยากเปลี่ยนขวดภาชนะบรรจุให้สวยงามขึ้น  ก็สามารถทำได้แต่ต้องถ่ายเก็บในภาชนะพลาสติกประเภท PVC อย่าถ่ายลงหรือเจือจางผสมน้ำในภาชนะประเภทโลหะหนัก  เช่น  กะละมังโลหะเพราะจะทำปฏิกิริยากันได้  นอกจากนี้ควรเก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด เพราะผลิตภัณฑ์จะมีอายุการใช้งานและประสิทธิภาพต่ำลง

บรรณานุกรม

1. สุวรรณา เหลืองชลธาร (2543) เคมีอนินทรีย์ทางเภสัชศาสตร์ เล่ม 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 154
2. Wikipedia, the Free Encyclopedia. Sodium hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hypochlorite] accessed on December 14, 2009.
3. ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์. [Online http://www.blogger.com/msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=203] accessed on December 14, 2009.
4. Sodium Hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/www.inchem.org/documents/pims/chemical/pim495.htm] accessed on December 14, 2009.
5. Sodium Hypochlorite. [Online http://www.blogger.com/www.answers.com/topic/sodium-hypochlorite] accessed on December 14, 2009.
ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/sodium-hypochlorite.html
ยาสีฟัน

 ยาสีฟันหมายถึงสารที่ใช้ทำความสะอาดฟันและลิ้น เพื่อรักษาสุชอนามัยในช่องปาก โดยทั่วไปยาสีฟันมักมีการแต่งสี กลิ่นและรสชาดเพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกสดชื่นฟันสะอาด ยาสีฟันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ โดยทำมาจากส่วนผสมของดอกไอริส (iris flowers)  จากนั้นชาวกรีกและชาวโรมันได้มีการพัฒนาสูตรยาสีฟันโดยการเติมสารขัดฟัน (abrasive) เช่น กระดูกป่น หรือเปลือกหอยลงไปในยาสีฟันด้วย ต่อมาช่วงราวศตวรรษที่ 18 ยาสีฟันสูตรอเมริกันและอังกฤษที่ที่มีส่วนผสมของขนมปังเผาอยู่ด้วยก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสูตรยาสีฟันที่มีส่วนผสมของยางต้นไม้ อบเชย และอะลูมินาเผาด้วย  แต่การใช้ยาสีฟันยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกระทั่งในศตวรรษที่19 ประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัทคอลเกตได้คิดค้นยาสีฟันแบบครีมบรรจุในหลอดบีบเพื่อจำหน่ายเป็นครั้งแรก (1)
            ใน ค.ศ.1914 เริ่มมีการเติมฟลูออไรด์ลงในยาสีฟันแต่ยังไม่มีการรับรองถึงประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุจากสมาคมทันตกรรมของอเมริกา จนกระทั่งในค.ศ.1950 บริษัท Procter & Gamble ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุของยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  และได้การรับรองจากสมาคมทันตกรรมอเมริกา
          ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่สามารถป้องกันฟันผุ มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ   สำหรับประเทศไทย   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟันมีปริมาณได้ไม่เกิน 0.11%หรือ 1,100 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และจัดประเภทยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เป็นเครื่องสำอางคุมพิเศษ (2)
ส่วนประกอบในยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ (3, 4)
1. ฟลูออไรด์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ โดยทำหน้าที่เคลือบฟัน ป้องกันการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรีย รวมทั้งกรดในอาหารด้วย รูปแบบของฟลูออไรด์ที่ใช้ผสมในยาสีฟันมี 2 ชนิด คือ โซเดียมฟลูออไรด์ (NaF)และ โซเดียม โมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Na2PO3F) ซึ่งในแต่ละผลิดภัณฑ์จะมีสัดส่วนของฟลูออไรด์ทั้งสองต่างๆ กัน หรืออาจใช้เพียงชนิดเดียวก็ได้ แต่จะมีปริมาณฟลูออไรด์ได้ไม่เกิน 1,100 ppm ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด ซึ่งยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 ppm 

2. สารขัดฟัน (Abrasives) ช่วยขจัดคราบอาหารและคราบหินปูนที่เกาะอยู่บนฟัน โดยทั่วไปนิยมใช้สารที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด ยาสีฟันควรมีสารขัดฟันมากพอที่จะกำจัดคราบอาหารและคราบหินปูน แต่ถ้าใช้มากเกินไปก็อาจจะทำลายเคลือบฟันของเราได้ สารขัดฟันที่นิยมใช้กันได้แก่ แคลเซียมฟอสเฟต (Ca2 (PO4)3) ไดแคลเซียมฟอสเฟตไดไฮเดรต (CaHPO4·2H2O) แมกเนเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) อะลูมิเนียมออกไซด์ไฮเดรต (Al2O3.H2O)   แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) หรือ ซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO2) เป็นต้น

3. สารชำระล้าง (Detergents) ช่วยทำให้เกิดฟองและไม่ทำให้ยาสีฟันไหลออกจากปากขณะแปรงฟัน  สารเคมีที่ใช้โดยทั่วไปคือ โซเดียมลอริลซัลเฟต

4. สารเพิ่มความชื้น (Humectants) ช่วยทำให้ยาสีฟันมีรสสัมผัสของความชื้นไม่แห้งแข็ง สารเคมีที่ใช้โดยทั่วไปคือ กลีเซอรีน (glycerin) ซอร์บิทอล (sorbitol) และน้ำ นอกจากนี้ซอร์บิทอลยังทำให้ยาสีฟันมีรสหวาน ซึ่งอาจทำให้เด็กกลืนกินเข้าไปได้

5. สารเพิ่มความข้นหนืด (Thickeners) ช่วยเพิ่มความข้นหนืดให้แก่ยาสีฟัน สารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxy methyl cellulose) และ คาราจีแนน (carragenan)

6. สารกันเสีย (Preservatives) ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในยาสีฟัน สารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ โซเดียมเบ็นโซเอท (sodium benzoate) เอทิลพาราเบน (ethyl paraben) เมทิลพาราเบน (methyl paraben) ไทรโคซาน (triclosan) เป็นต้น

วิธีใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์  
            ปริมาณยาสีฟันที่พอเหมาะในแต่ละช่วงอายุคือ
                       เด็กอายุ 6 เดือน - 1 ปีครึ่ง ให้มีปริมาณยาสีฟัน แตะแต่เพียงพอชื้น
                       เด็กอายุ1ปีครึ่ง – 3 ปี
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน
 เท่าเมล็ดถั่วเขียว
                       เด็กอายุ 3 ปี
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน เท่าเมล็ดข้าวโพด
                       เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป – ผู้ใหญ่
 ให้มีปริมาณยาสีฟัน ครึ่งเซ็นติเมตร

            และควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และแปรงฟันให้นานครั้งละ 1 – 2 นาทีขึ้นไป     เพื่อให้ฟลูออไรด์จากยาสีฟันสัมผัสกับผิวฟันเป็นเวลานานพอ     จึงจะเกิดผลในการป้องกันฟันผุได้เต็มที่

ข้อมูลความปลอดภัย
            การกลืนยาสีฟันเข้าไปอาจทำให้คลื่นไส้    อาเจียนและท้องเสียได้ (1)    หรือ   หากได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ฟันตกกระ (dental fluorosis)  ในกรณีที่รุนแรง ฟันจะเกิดเป็นรอยสีน้ำตาล ผิวฟันจะขรุขระ เป็นจุดและทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะจะเกิดปัญหากับฟันแท้ของเด็กเมื่อเด็กบริโภคฟลูออไรด์มากเกินไปในช่วงก่อนอายุ 6 ขวบ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กกินหรือกลืนยาสีฟันเข้าไปในขณะที่แปรงฟัน

บรรณานุกรม
1.Toothpaste. Wikipedia, the Free Encyclopedia[Online http://www.blogger.com/en.wikipedia.org/wiki/Toothpsdte] accessed on April 19, 2009.
2.http://dental.anamai.moph.go.th/go_downloads.php?Ref=20060504155434-downloads-8.doc 
3. http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080919060624AASN5ll  
4. http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1796  5.      http://www.chemtrack.org/EnvForKids/chem-2.htm

ที่มา : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/bath-room/toothpaste.html